ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ผ้าหม้อห้อม เอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่


ประวัติความเป็นมาของผ้าหม้อห้อม
“หม้อห้อม” เป็นภาษาพื้นเมือง เป็นการรวมคำระหว่าง คำว่า “หม้อ” กับ “ห้อม” ซึ่งคำว่าหม้อ หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่ง ส่วนคำว่าห้อม หมายถึง พืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นหอม หรือ
ต้นคราม ซึ่งจะให้สีน้ำเงินหรือกรมท่าในการย้อมผ้า
ความเป็นมาของการทำผ้าหม้อห้อมไม่มีหลักฐานการบันทึกว่า เริ่มทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คาดว่าน่าจะมีการทำมาหลายชั่วอายุคน โดยการทำสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่น พ่อ – แม่ เพราะ ป้าเหลือง ทองสุข ผู้ที่ทำผ้าหม้อฮ่อมอยู่ในปัจจุบันก็ทำสืบทอดมาจากแม่และรุ่นป้าเหลืองที่ทำกันอยู่นี้ก็ทำมา ประมาณ 40 กว่าปีแล้ว และคงจะถ่ายทอด สู่รุ่นลูกต่อไป

วิธีการทำสีครามจากต้นหอมหรือต้นคราม
  • ตัดต้นหอมหรือต้นคราม
  • นำกิ่งและใบมาทำเป็นมัดๆ
  • นำใบและกิ่งที่มัดไว้ไปแช่น้ำเปล่าไว้ 2 คืน
  • เมื่อแช่ครบ 2 คืนแล้ว นำกากต้นหอมออก
  • นำปูนขาวผสมกับน้ำที่แช่ได้ แล้วตีให้เกิดฟอง เติมปูนขาวจนกว่าฟองที่ได้จะเป็นสีน้ำเงิน
  • ทิ้งให้น้ำที่ได้ตกตะกอนหรืออาจจะใช้ผ้าขาวบางกรองเอาตะกอนที่ได้เก็บไว้เป็นหัวคราม นำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี
วิธีการย้อมผ้าหม้อห้อม
  • นำหัวครามที่ได้นั้นมาผสมกับน้ำด่าง (น้ำด่างได้มาจากการกรองน้ำขี้เถ้าที่ได้จากการหุงต้ม) และปูนขาว ใส่ลงไปในหม้อ
  • นำเสื้อผ้าที่ต้องการย้อม (ผ้าฝ้าย) มาทำความสะอาดเอาแป้งออกโดยการต้ม หรือแช่น้ำไว้ 2 คืน
  • นำผ้าที่ทำความสะอาดแล้วมาย้อมในหม้อโดยใส่ผ้าครั้งละ 4-5 ตัวต่อหนึ่งหม้อ
  • นำผ้าที่ย้อมเสร็จแล้วไปตากให้แห้งแล้วขยำให้ทั่วเนื้อผ้าประมาณ 10-15 นาที
  • นำมาย้อมแล้วนำไปตาก 3-4 ครั้งขึ้นอยู่กับสีที่ต้องการ ถ้าต้องการสีที่เข้มมาก ก็ย้อมให้นานครั้ง
  • เมื่อได้ผ้าตามสีที่ต้องการแล้วนำไปซักทำความสะอาดก่อนนำออกจำหน่าย
การใช้ผ้าหม้อห้อม

โดยธรรมชาติแล้วคุณสมบัติของสีครามที่ใช้ย้อมผ้าหม้อห้อมนั้นสีจะตก จึงพูดได้ว่า “หม้อห้อมแท้สีจะต้องตก” แต่มีกรรมวิธีที่ช่วยให้สีครามตกน้อยลงได้โดยการแช่น้ำเกลือหรือหัวน้ำส้มไว้ 1 คืน ก่อนซักครั้งแรก หลังจากนนั้นก็ซักตามปกติโดยแยกซักออกจากผ้าที่มีสีอ่อน ผ้าหม้อห้อมยิ่งซักก็จะยิ่งสวย ซึ่งจะตกอยู่ประมาณ 4-5 ครั้ง จากนั้นสีจะอยู่ตัวไม่ตก คุณก็จะได้ผ้าหม้อห้อมย้อมครามที่มีสีสวยไว้สวมใส่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น